ขอความร่วมมืองดเว้นการเผาโดยเด็ดขาด การเฝ้าระวังและการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในท้องที่จังหวัดน่าน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔

ด้วยสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนของทุกปี จะมีมลพิษหมอกควันปกคลุมจังหวัดน่าน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า , กิจกรรมการเผาวัสดุทางการเกษตร และการเผาในพื้นที่โล่งกว้างอื่น ๆ ซึ่งมีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม , สังคม , เศรษฐกิจการท่องเที่ยว , การคมนาคมขนส่ง ประกอบกับ สภาวะทางธรรมชาติของโลกมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทางธรรมชาติในด้านต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดน่าน จึงขอความร่วมมือมายังทุกท่านโปรดช่วยกันเฝ้าระวัง , สนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในท้องที่จังหวัดน่าน ดังนี้

๑. งดเว้นการเผาป่า , เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร , เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง , เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณี เป็นระยะเวลา ๗๕ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยเด็ดขาด

๒. ให้ทุกพื้นที่ดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ หากมีความจำเป็นต้องเผาไร่และวัชพืชในที่ทำกิน ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว แจ้งกำนัน , ผู้ใหญ่บ้านในเขตปกครองท้องที่นั้น ๆ ก่อนที่จะดำเนินการเผาไร่และวัชพืช อีกทั้งต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดน่าน เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการดำเนินการ

๓. หากราษฎรผู้ใดไม่แจ้งต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งแล้วแต่ไม่จัดทำแนวกันไฟและไม่ได้ควบคุมไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้นถือครอง จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไหม้ป่า ให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่ราษฎรที่ฝ่าฝืน หรือปล่อยปละละเลยโดยเฉียบขาดทุกราย โดยเฉพาะราษฎรที่บุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ

๔. การจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่ชาติ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๒๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี และปรับไม่เกิน ๑๔,๐๐๐ บาท

๕. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , กำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน , ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน , สารวัตรกำนัน และแพทย์ประจำตำบล ให้ถือเป็นหน้าที่ต้องสอดส่อง ดูแลให้ประชาชนในท้องที่ปฏิบัติตามประกาศอย่างเข้มงวด

๖. ราษฎรต้องให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า และหากพบเห็นไฟป่าเกิดขึ้น ณ บริเวณใด ราษฎรต้องให้ความร่วมมือช่วยกันดับไฟในเบื้องต้นทันที เพื่อไม่ให้ไฟขยายเป็นวงกว้าง และหากสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง ไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งคณะกรรมการควบคุมไฟป่าประจำหมู่บ้าน หรือชุดปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไฟป่าประจำหมู่บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับตำบล ซึ่งตั้งอยู่ ณ เทศบาลตำบลปัว หรือศูนย์อำนวยการฯ ระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอปัว หรือหน่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือโทรแจ้งประสานหน่วยงาน ดังนี้

* สถานีควบคุมไฟป่าดอยภูคา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘ – ๙๘๕๒ – ๓๘๗๙ หรือ ๐๘ – ๘๔๑๕ – ๑๘๐๐

* หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ปัว หมายเลขโทรศัพท์ ๐๙ – ๑๓๐๑ – ๗๑๘๙