เนื้อหา : ด้วย สำนักงานส่งเสริมการปกกครองท้องถิ่นอำเภอปัว ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในจังหวัดน่าน มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยสถิติผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ จำนวนทั้งสิ้น ๓๓๓ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๗๐.๐๒ ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ พบผู้ป่วยสูงสุด ๑๐๒ ราย เนื่องจากเป็นฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีอากาศเย็นลง อีกทั้งโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือสถานศึกษา และชุมชน ดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในสถานศึกษา ดังนี้
๑. ให้ครูตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน หากพบเด็กมีไข้ มีแผลในปาก พบจุด ตุ่มหรือผื่นแดง ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก แนะนำให้แยกเด็กออกไม่ให้ปะปนกับเด็กปกติ ติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน และพาไปพบแพทย์ ในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาด หากพบตุ่มในปาก โดยยังไม่มีอาการอื่น ควรขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ให้เด็กหยุดเรียน ๑ สัปดาห์ เนื่องจากสามารถแพร่เชื้อไปในสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่เด็กคนอื่น ๆ ได้
๒. การดำเนินการมาตรการตามหลักสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด ได้แก่
๒.๑ ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับการรับประทานอาหาร แก้วน้ำ ของเล่นเด็ก และห้องน้ำ ให้สะอาดอยู่เสมอ
๒.๒ สร้างสุขนิสัยการล้างมือให้กับ้เด็กอย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนสนับสนุนสบู่สำหรับล้างมือไว้ที่อ่างล้างมือทุกแห่ง ให้เด็กล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง เมื่อทำกิจกรรม ก่อนรับประทานอาหาร และหลังออกจากห้องส้วม
๒.๓ แยกของใช้ที่สัมผัสเข้าทางปากโดยตรง ได้แก่ แก้วน้ำ , หลอดดูด , ขวดนม , ช้อน , ชาม
๒.๔ ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ต้องมีวิธีกำจัดอุจจาระให้ถูกต้อง พี่เลี้ยงเด็กต้องล้างมือทุกครั้ง หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือหลังสัมผัสอุจจาระ , น้ำมูก , น้ำลายของเด็ก
๓. การทำความสะอาดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก สามารถทำได้ ดังนี้
๓.๑ เปิดหน้าต่างให้แสงอุลตราไวโอเล็ตในแสงแดด ทำลายเชื้อโรคในสภาพที่แห้ง
๓.๒ ใช้น้ำยาซักล้างทั่วไป โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ ๑ % หรือกลูตาราลดีไฮด์ , ฟอร์มาลดีไฮด์ ๐.๓ % และคลอรีนผสมน้ำ ๐.๑ ppm ทำความสะอาด
๓.๓ การทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว (๒๐ มิลลิลิตร ต่อ ๑ ลิตร) ทิ้งไว้ ๑๐ นาที แล้วล้าง เช็ด หรือแช่ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ แล้วนำไปผึ่งแดด
๔. การพิจารณาปิดและเปิดสถานศึกษา กรณีเกิดการระบาดขอโรคมือ เท้า ปาก ควรพิจารณาปิดสถานที่ดูแลเด็ก โรงเรียนอนุบาล – ประถม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ดังนี้
๔.๑ เมื่อมีเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก มากกว่า ๒ ราย ในห้องเรียนหรือชั้นเรียนเดียวกัน ภายในระยะเวลา ๑ สัปดาห์ หรือมีผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส ๗๑ ตั้งแต่ ๑ รายขึ้นไป ให้พิจารณาปิดเฉพาะห้องเรียนหรือชั้นเรียน
๔.๒ ถ้ามีเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หลายห้องหรือหลายชั้นเรียน ให้พิจารณาปิดสถานที่หรือโรงเรียน
๔.๓ ปิดสถานที่หรือโรงเรียน เป็นระยะเวลาประมาณ ๕ วัน
๔.๔ ในระหว่างปิดสถานที่หรือโณงเรียน ควรทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ ของเล่น และสิ่งของต่าง ๆ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด และวิธีทำความสะอาดที่เหมาะสม
๔.๕ เปิดห้องเรียน ชั้นเรียน หรือโรงเรียน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ๕ วัน และได้มีการทำความสะอาดอย่างดีแล้ว และมีการตรวจสอบแล้วไม่มีนักเรียน หรือเด็กในห้องนั้นมีอาการป่วยเพิ่มอีก
แหล่งข่าว : หนังสือสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอปัว ที่ นน ๐๐๒๓.๑๖/ว๓๒๕ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ เรื่อง แจ้งสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก และแนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในสถานศึกษา
เรียบเรียงข่าว : นางสาวนิชาภา เรืองวงษ์ ตำแหน่ง นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ