4 โครงการช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ครม. ได้อนุมัติ 4 โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ดังนี้
.
1.โครงการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของภาครัฐในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 1,164,222 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 63) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ วงเงินงบประมาณ 3.49 พันล้านบาท
.
2.โครงการช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง
จากการตรวจสอบพบว่า มีประชาชนที่ลงทะเบียนโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่สำเร็จ จำนวน 302,160 คน ซึ่งยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกำลังเร่งพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายและกลไกการความช่วยเหลือให้ชัดเจน และจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พิจารณาใน 1 เดือน วงเงินงบประมาณ 906 ล้านบาท
.
3.โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง
กลุ่มผู้เปราะบาง จำนวนทั้งสิ้น 6,781,881 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นของรัฐ และไม่ซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการของภาครัฐ จะได้รับเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 63) เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงเด็กแรกเกิด เบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงินงบประมาณ 2.03 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1) เด็กจากครัวเรือนยากจน (ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี) จำนวน 1,394,756 คน
2) ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 4,056,596 คน
3) ผู้พิการ จำนวน 1,330,529 คน
.
4.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
1) เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร รวมถึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสและยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 ราย โดยต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวอย่างเท่าเทียม
2) การขยายเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ ภายในวันที่ 15 พ.ค. 63 ราว 120,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรในรอบการผลิตที่ผ่านมาแล้ว